วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
        ในยุคโลกาภิวัฒน์ซึ่งมีความเจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในด้านความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มนุษย์ในปัจจุบันจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน อันเป็นผลมาจากการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมากมาย ในชีวิตประจำวันของคนทุกวันนี้ มีความผูกพันอยู่กับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทุกลมหายใจเข้าออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในสังคมเมืองยิ่งต้องผูกพันตนเองติดอยู่กับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
        เมื่อมนุษย์เพิ่มมากขึ้นความต้องการปัจจัยต่างๆ ในการดำรงชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว มนุษย์จึงมีการแข่งขันในการสร้างวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้น เพื่อความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจและสังคม แต่เทคโนโลยีก็มีผลในทางลบด้วย คือ ทำให้คุณภาพสิ่งแวดล้อมเลวลง เมื่ออาณาจักรของมนุษย์ได้แผ่ขยายรุกรานธรรมชาติของโลกมากขึ้น สิ่งที่กำลังถูกทำลายมากที่สุดในปัจจุบัน คือ พื้นที่ที่เป็นป่าไม้ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธรรมชาติหลายอย่างบนโลกผิดแปลกไป ตลอดจนการนำทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอื่นๆ มาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ไม่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ผลสืบเนื่องที่ตามมานอกจากความร่อยหรอเสื่อมโทรมของทรัพยากรแล้ว ยังได้สร้างปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
        วิทยาศาสตร์  หมายถึง  วิชาที่ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวติ และไม่มีชีวิต เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนต่างๆ ในธรรมชาติ ทั้งในสภาพนิ่งหรือสภาพที่มีการเปลี่ยนแปลง ตามกาลเวลาและตามสภาพการกระตุ้น  ทั้งจากภายในหรือภายนอก การศึกษาทางวิทยาศาสตร์มีจุดหมายเพื่อแสวงหาความรู้อย่างเป็นระบบจากการสังเกต ตั้งข้อสมมติฐาน พิสูจน์สมมติฐาน ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
        เทคโนโลยี  หมายถึง  กระบวนการหรือวิธีการ และเครื่องมือที่ได้จากการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และศาสตร์อื่นๆ มาผสมผสานประยุกต์หรือใช้งาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ จึงมีประโยชน์และเหมาะสมเฉพาะเวลาและสถานที่
       ในระยะ 100 ปีที่ผ่านมา เป็นห้วงเวลาที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วที่สุด ระยะเวลาการค้นคว้า วิจัย ทดลอง และการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เพื่อประยุกต์ใช้และผลิตสินค้าออกมาใช้ ได้สั้นลงมากเป็นลำดับ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางอิเล็กทรอนิกส์  แต่ความก้าวหน้าทางความรู้พื้นฐานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของไทยมีอัตราช้ามาก แม้ประเทศไทยจะมีการขยายตัวและวิวัฒนาการทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นการเริ่มจากฐานต่ำ ที่สำคัญก็คือ เป็นการเติบโตและวิวัฒนาการที่อาศัยปัจจัยทั้งหลาย ซึ่งไม่ใช่การมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ ปัจจัยดังกล่าว เช่น พื้นที่การเพาะปลูก การลงทุนจากต่างประเทศ แรงงานที่ถูก ล้วนแล้วแต่กำลังลดบทบาทลง ในขณะที่การเตรียมทุ่มเทสังเสริมสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังเป็นไปอย่างเชื่องช้า และค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากกระบวนการพัฒนาในประเทศไทย จากอดีตถึงปัจจุบันมิได้เกิดจากความแข็งแกร่งทางด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน  และมิได้เกิดจากการมีความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ และนำเอาความรู้นั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อการผลิต เพื่มเพิ่มสมรรถนะการผลิต หากเป็นการบริโภคและถ่ายทอดความรู้เป็นด้านหลัก นอกจากนั้นยังไม่มีการทุ่มเททรัพยากรด้านต่างๆ ให้เข้ากับการพัฒนาขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐานอย่างจริงจัง ประเทศไทยจึงไม่อาจก้าวข้ามอุปสรรคที่สำคัญของการพัฒนาไปได้ อุปสรรคนี้คือ การเป็นประเทศที่ไม่สามารถมีเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองได้ เมื่อประเทศเจ้าของเทคโนโลยีพัฒนาขีดความสามารถสูงขึ้น ประเทศไทยจึงตกอยู่ในฐานะที่ต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา  ดังนั้นการเริ่มเน้นถึงวิทยาศาสตร์พื้นฐาน จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญยิ่งที่ต้องมีการจัดการอย่างรีบด่วน จริงจังและต่อเนื่อง
                                                                        
                                                                                                                                                                  
ผลกระทบจากการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสิ่งแวดล้อม
         ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมามีอัตราสูงมาก  ทำให้มีการระดมทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะ ป่าไม้  ที่ดิน  แหล่งน้ำ  แร่ธาตุและทรัพยากระประมง  มาใช้อย่างสิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ประหยัด  ส่งผลให้เกิดความร่อยหรอและเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ  ยิ่งไปกว่านั้น  การขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมาก็เป็นสาเหตุสำคัญ  ที่ซ้ำเติมให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว
       นอกจากความร่อยหรอและเสื่อมโทรมของทรัพยากรแล้ว  การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว  ตลอดจนถึงการขยายตัวของประชากรในเขตเมือง  ได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษในด้านต่างๆ เช่น น้ำเน่า อากาศเสีย  เสียงรบกวน  กากของเสีย และสารอันตรายตกค้าง  เพิ่มปริมาณมากขึ้น  โดยเฉพาะคุณภาพน้ำในแม่น้ำสายหลัก  เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน  รวมถึงคุณภาพน้ำทะเลชายฝั่งในบริเวณแหล่งท่องเที่ยว  ซึ่งเสื่อมโทรมและมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้  โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากน้ำทิ้งจากชุมชนและน้ำเสียจากอุตสาหกรรม
       สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานครและเมืองหลัก  เช่น  เชียงใหม่  หาดใหญ่  ขอนแก่น  ก็ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  โดยมีสาเหตุสำคัญ คือ ปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้  ปัญหาขยะมูลฝอยทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองหลักเมืองอื่น ๆ ตลอดจนเทศบาลและสุขาภิบาลต่างๆ กลายเป็นเมืองสกปรกและยังเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคอีกด้วย  นับเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนอย่างมาก

                                                                                                                                                                                                                                       
ผลกระทบจากกระบวนการผลิตทางอุตสากรรมต่อสิ่งแวดล้อม
       การอุตสาหกรรม หมายถึง การแปรรูปวัตถุดิบให้เป็นผลผลิตที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งกระบวนการแปรรูปของวัตถุดิบด้วยเทคโนโลยีระดับต่างๆ ตั้งแต่การผลิต วัตถุดิบ จนถึงผลผลิตขั้นสุดท้าย ก่อให้เกิดมลพิษทั้งที่เป็นสารเคมีที่เป็นพิษ โลหะหนัก สารฆ่าแมลง เชื้อโรคในรูปของน้ำเสีย อากาศเสีย หมอก ควัน ฝุ่นละออง ความสั่นสะเทือน ความร้อน ฯลฯ
           มลพิษจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท กำลังการผลิต ความถี่ในการผลิต เช่น กระบวนการทำความเย็น การทำความร้อน การผลิตพลังงาน การล้างทำความสะอาด และประสิทธิภาพของเทคโนโลยีแต่ละขั้นตอน เป็นต้น
           จากลักษณะของกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมที่กล่าวมา ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมายหลายประการ  โดยเฉพาะปัญหามลภาวะ ( กล่าวอย่างละเอียดในบทที่ 9 )  ซึ่งเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การพัฒนากระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีย้อนกลับมาทำร้ายตัวมนุษย์เอง                                                                                                                                                                                                                                         
ผลกระทบจากกระบวนการผลิตทางเกษตรกรรมต่อสิ่งแวดล้อม
           การเกษตร หมายถึง การจัดการภายในของขอบเขตที่ดิน เพื่อการผลิตพืชและสัตว์ ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ในการยังชีพ  การแลกเปลี่ยนโดยมีปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือ ดิน น้ำ อากาศ แสง พืชพันธุ์และสัตว์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบการเกษตรมีลักษณะที่สอดคล้องกับระบบนิเวศธรรมชาติเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ระบบนิเวศธรรมชาติเป็นการแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันและกันขององค์ประกอบที่มีชีวิต กับองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิต โดยมีลักษณะความสัมพันธ์ดังกล่าว อย่างน้อย 5 ประเด็น คือ
           1) การเกษตรต้องพึ่งพาอาศัยสภาพแวดล้อมทางกายภาพอย่างเข้มข้น
           2) การเกษตรจำเป็นต้องอาศัยคุณลักษณะทางชีววิทยาในการผลิต
           3) การเกษตรมีการใช้ที่ดินเป็นบริเวณกว้าง
           4) การเกษตรก่อให้เกิดผลผลิตมากมายและหลากหลาย
           5) การเกษตรมีหน่วยการผลิตมากทำให้อัตราส่วนการประกอบอาชีพของประชากรมีมาก
           ภายใต้สภาวการณ์โลกที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนาการผลิตให้เพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมุ่งเน้นประโยชน์ตอบแทนในรูปผลกำไรเป็นหลัก มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้อย่างเข้มข้น เกินความพอเหมาะพอดี นอกจากนี้ ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรภายนอก ได้แก่ ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช เครื่องจักรกล รวมถึงเทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรม ผลพวงจากการจัดการระบบไร่นาเชิงธุรกิจเหล่านี้ เป้นผลให้เกิดการสูญเสียสมดุลธรรมชาติอย่างมากมาย เช่น การระบาดของศัตรูพืช ภาวะฝนแล้ง การชะล้างพังทะลายของหน้าดิน อากาศร้อนขึ้น นับวันปัญหาต่างๆ จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจึงควรเร่งปรับปรุงแก้ไขอย่างรีบด่วน
ปัญหาและสาเหตุความไม่ยั่งยืนในระบบการเกษตร
           ในช่วงของการพัฒนาของประเทศไทย  รวมไปถึงทั่วโลกที่ผ่านมานั้นมนุษย์ได้กระทำการต่างๆ เพื่อการพัฒนาโดยขาดการระมัดระวังส่งผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อมธรรมชาติ ในขณะเดียวกันธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบของการพัฒนาจนมีสภาพเสื่อมโทรมผิดปกตินั้น ได้ก่อให้เกิดผลต่อมนุษย์มากมาย ดังนี้
           1) ปัญหาความไม่ยั่งยืนทางด้านสภาพแวดล้อม
               โดยทั่วไปมนุษย์เคยชินกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม มักมองการเกษตรที่ต้องหักล้างถางพง จากพื้นที่เดิมที่เป็นป่าไม้ให้เตียนเสียก่อน โดยไม่ให้มีพืชอื่นที่ไม่ต้องการหลงเหลืออยู่ แล้วจึงทำการไถเตรียมดินเพื่อให้ร่วนซุย  และเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชที่ต้องการปลูก จากนั้นทำการปลูกเป็นแถวเป็นแนว ทั้งนี้เพราะภายหลังจากพืชงอกมาแล้ว จะได้ทำการไถพรวนระหว่างร่องเพื่อไม่ให้มีวัชพืชขึ้นแข่งกับพืชที่ต้องการปลูก  เมื่อมีศัตรูพืชระบาดก็ใช้สารเคมีพ่นกำจัด เมื่อถึงเวลาก็ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน ในระยะเวลาที่เหมาะสม การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหา คือ
               - การชะล้างพังทะลายของดิน โดยเฉพาะบริเวณที่มีความลาดเอียง เพราะหน้าดินมีพืชเศรษฐกิจเพียงชนิดเดียว
               - เกิดมลพิษในอากาศ น้ำ และดิน เนื่องจากการใช้สารเคมี
               - ศัตรูพืชระบาดมากขึ้น เพราะไปทำลายแมลงบางอย่างที่มีประโยชน์ต่อพืช
               - การสูญเสียแหล่งพันธุกรรม เพราะปลูกพืชเพียงชนิดเดียวและกำจัดพืชชนิดเดิมออกไป
               - พื้นที่ป่าไม้ลดลง
           2) ปัญหาความไม่ยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจและสังคม
               การเกษตรไทยในชนบทเดิมมุ่งเน้นการผลิตสิ่งจำเป็นพื้นฐานมากกว่าจะมุ่งเพื่อการค้า ระบบการเกาตรไทยจึงมีความหลากหลาย ผลผลิตเพียงพอกับการบริโภค เมื่อเหลือจึงแจกจ่าย แลกเปลี่ยนหรือจำหน่าย แต่ต่อมานโยบายการผลิตเปลี่ยนแปลงโดยมุ่งเน้นให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อเศรษฐกิจของประเทศที่เจริญเติบโตและก้าวหน้าให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น
               เกษตรกรถูกอิทธิพลของเศรษฐกิจภายนอกเข้ามามีบทบาททำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิต และมีอิทธิพลที่เปลี่ยนแปลงไปกพร้อมกับระบบการผลิต คือ
               - ความต้องการปัจจัยภายนอกเหนือการดำรงชีวิตมีมากขึ้น เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับการเสนอขายปัจจัยการดำรงชีพที่ไม่ใช่สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานมากขึ้น การผลิตที่เน้นเพื่อการดำรงชีพเปลี่ยนแปลงเป็นผลิตเพื่อขายให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอย โดยเน้นการผลิตพืชเศรษฐกิจเป็นสำคัญ
               - การผลิตเพื่อการค้าประสบภาวะขาดทุน  สินค้าการเกษตรส่วนใหญ่มีลักษณะ 5 ประการ คือ เน่าเสียง่าย ผลผลิตที่เก็บไว้นานต้องใช้ยุ้งฉางเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม  ราคาผันแปรไม่แน่นอน ผลผลิตไม่แน่นอนมีความเสี่ยงสูง และต้นทุนการผลิตสูง ทำให้เกษตรกรมีหนี้สินต้องรีบขายผลผลิตทำให้มีรายได้ต่ำ
                                                                                                                                                                                                                                               
ผลกระทบจากกระบวนการกระจายผลผลิตต่อสิ่งแวดล้อม
            สืบเนื่องจากการพัฒนากระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมทำให้เกิดผลผลิตมากมาย และจำเป็นที่ต้องมีการกระจายผลผลิตออกสู่พื้นที่ต่างๆ ที่มีความต้องการผลผลิตนั้นๆ  ซึ่งกระบวนการกระจายผลผลิตนี้อาศัยระบบการคมนาคมขนส่งเป็นปัจจัยหลัก  ในอดีต  การคมนาคมขนส่งยังไม่พัฒนา ทำให้การกระจายผลผลิตไม่สามารถขยายไปสู่พื้นที่ห่างไกลได้ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบัน จากการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การกระจายผลผลิตทำได้อย่างรวดเร็ว ทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศ  ซึ่งนับวันยิ่งมีวิวัฒนาการก้าวล้ำมากขึ้น   แต่กระบวนการกระจายผลผลิตก็สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย ทั้งเรื่องของการเพิ่มปริมาณยานพาหนะ ทำให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศ มลพิษทางเสียง และปัญหาการใช้ทรัพยากรน้ำมันเพิ่มมากขึ้น  เรื่องของอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง ฯลฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น